เรื่องระบบไฟฟ้าในบ้านที่ไม่ควรละเลย ควรเช็กอะไรบ้างมาดูกัน
1.ตรวจสอบระบบไฟฟ้าในบ้าน เริ่มต้นจากมิเตอร์ไฟฟ้า
ก่อนที่จะเริ่มตรวจสอบมิเตอร์ไฟฟ้าจะต้องปิดสวิตช์ไฟทุกจุดทั้งในและนอกบ้าน และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดออกให้หมดด้วย หลังจากนั้นให้ไปดูที่มิเตอร์ว่าฟันเฟืองยังหมุนอยู่หรือไม่ หากตัดไฟแล้วมิเตอร์หยุดหมุน หมายความว่า มิเตอร์ใช้งานได้ปกติ แต่หากตัดไฟแล้วมิเตอร์ยังหมุนอยู่แสดงว่ามีไฟรั่วเกิดขึ้น ควรซ่อมแซมแก้ไขให้ใช้งานเป็นปกติ เนื่องจากมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้วัดหน่วยการใช้ไฟฟ้าในบ้าน ถ้าทนใช้งานต่อไปอาจทำให้ค่าไฟจะสูงและเสี่ยงอันตรายต่อผู้ใช้งานอีกด้วย2.ระบบไฟฟ้าในบ้านควรตรวจสอบเมนสวิตช์
เมนสวิตช์ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบไฟฟ้าในบ้านเลยก็ว่าได้ ดังนั้น จึงควรหมั่นตรวจสอบว่าเมนสวิตช์อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเป็นปกติหรือไม่ เซอร์กิตเบรกเกอร์ยังใช้ปลดวงจรระบบไฟฟ้าในบ้านได้ไหม รวมถึงยังสามารถป้องกันไฟรั่วได้หรือเปล่า หากพบความเสียหายควรเปลี่ยนใหม่หรือซ่อมแซมให้ดีเสียก่อน3.ตรวจสอบสายไฟเพื่อระบบไฟฟ้าในบ้านที่ปลอดภัย
สายไฟก็มีอายุการใช้งานเช่นกัน โดยเฉพาะถ้าเป็นสายไฟที่ซ่อนอยู่ในฝ้าเพดานที่อาจมีสัตว์เข้าไปกัดแทะจนขาดได้แบบที่เราไม่รู้เรื่อง หากเป็นสายไฟที่ไม่มีฉนวนหุ้มแล้วยิ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนสายไฟใหม่ทันทีเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน แต่โดยทั่วไปแล้วสายไฟที่มีฉนวน PVC หุ้มจะมีความแข็งแรง อายุใช้งานได้ยาวนานกว่า 15 – 20 ปี หากเป็นกรณีที่สายไฟตากแดด ตากฝน อยู่กลางแจ้งตลอดเวลา อายุการใช้งานอาจอยู่ที่ประมาณ 10 ปี ฉะนั้น จึงควรหมั่นตรวจสอบสายไฟหรือเดินสายไฟแบบร้อยท่อก็ช่วยยืดอายุการใช้งานได้เช่นกันนอกจากนี้ ยังควรตรวจการเดินสายไฟเพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร โดยให้ดูที่ใต้หลังคาหรือใต้ฝ้าว่ามีการทำท่อร้อยสายไฟหรือไม่ เพราะท่อร้อยสายไฟจะร้อยสายไฟให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สายไฟต้องมีสภาพสมบูรณ์ ช่วยป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้
4.ระบบไฟฟ้าในบ้านที่ปลอดภัยกับการใช้สายดิน
การติดตั้งสายดินเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จำเป็นและสำคัญต่อผู้ใช้ไฟฟ้า เพราะสายดินจะป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรและทำให้กระแสไฟที่รั่วไหลลงดิน ไม่ผ่านร่างกายเราให้ไฟดูด โดยสามารถเช็กได้ว่าที่บ้านมีการติดตั้งสายดินหรือยัง ด้วยการสังเกตที่ปลั๊กไฟหรือเต้ารับว่ามี 3 ขา หรือเปิดดูหลังปลั๊กว่ามีสายสีเขียวเส้นที่ 3 หรือไม่ รวมถึงตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการเดินสายดินต่อไปยังตู้ควบคุมไฟฟ้าต้องไปดูที่จุดฝังหลักดินว่ามีวงจรสายดินที่สมบูรณ์ตามมาตรฐานถูกต้องทั้งนี้ คงมีข้อสงสัยว่า… ถ้าติดตั้งสายดินแล้วจำเป็นต้องมีเครื่องตัดไฟรั่วหรือไม่ ซึ่งเครื่องตัดไฟรั่วมีหน้าที่ตัดกระแสไฟก่อนที่จะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร สาเหตุเกิดเพลิงไหม้ ดังนั้นระบบไฟฟ้าในบ้านที่ปลอดภัย แนะนำให้ติดตั้งทั้งระบบสายดินและเครื่องตัดไฟรั่ว
5.ตรวจสอบเต้ารับไฟฟ้าเพื่อระบบไฟฟ้าในบ้านที่ดี
เต้ารับไฟฟ้าเป็นบริเวณที่ต้องตรวจระบบไฟฟ้าในบ้านอยู่เป็นประจำว่ามีไฟรั่วและรองรับเต้าเสียบได้ดีเป็นปกติหรือไม่ เช็กว่าใช้งานกับเต้าเสียบแล้วหลวม มีรอยแตกร้าว หรือรอยไหม้บ้างไหม หากเต้ารับหลวมก็ขันสกรูให้แน่น แต่ถ้าแตกร้าวหรือรอยไหม้ควรเปลี่ยนใหม่ทันทีนอกจากนี้ อย่าลืมเช็กกระแสไฟรั่วด้วยการใช้ไขควงวัดไฟ แนะนำว่าควรเช็กทุกเต้ารับที่มีในบ้าน หากตำแหน่งใดที่ไม่มีไฟเข้าจะได้ทำการซ่อมแซม
6.สุดท้ายควรตรวจสอบกระแสไฟฟ้ารั่วกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เรามักใช้งานเป็นประจำ เช่น เครื่องซักผ้า ส่วนครัว ทั้งเคาน์เตอร์ครัว เตาไฟฟ้า เครื่องดูดควัน
ทดสอบการใช้งานว่ามีส่วนชำรุดหรือไม่ เพื่อป้องกันเหตุอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วนการเช็กไฟรั่วสามารถใช้ไขควงวัดไฟไปแตะที่ตัวเครื่องส่วนโลหะ ถ้าหลอดมีไฟติดแสดงว่ามีไฟรั่ว ควรหยุดใช้งานทันทีการตรวจสอบระบบไฟฟ้าในบ้านควรทำเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ หากต้องการข้อมูลเกี่ยวกับวิธีป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ ข้อควรรู้สำหรับวิธีป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรภายในบ้านให้ปลอดภัย
ที่มา: baanlaesuan
pd.co.th
safesavethai.com